เพราะความช่างสงสัยก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ - ‘curiosity

Last updated on ก.พ. 24, 2023

Posted on ม.ค. 19, 2022

หลายๆ องค์กรบนโลกนั้นใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเป็นตัวขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และเรื่องราวของตัวเอง สังเกตได้จากแบรนด์ระดับโลกอย่าง Nike หรือแม้แต่ Disney ต่างก็ใส่ Curiosity หรือว่าความช่างสงสัยลงไปใน Core Value ของบริษัท 

ทว่าสิ่งที่เรียกว่าความช่างสงสัยนั้นก็มีอุปสรรคของมันอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อคนเราทำงานอยู่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งไปนานๆ เราก็มีแนวโน้มที่จะซึมซับและปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร รวมถึงกรอบการทำงานขององค์กรนั้นทีละนิด จนทำให้ความช่างสงสัยที่เคยมีนั้นลดหายลงไป และถ้าหากเมื่อไหร่คนในองค์กรขาดความช่างสงสัยไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ก็จะสูญหายไปจากองค์กรนั้นได้ด้วยเช่นกัน

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2021 พบว่าผลลัพธ์ของ “ความช่างสงสัย” นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อเสียของการมีความช่างสงสัยมากเกินไปก็อาจทำให้เรารู้สึกว่ากำลังอยู่ผิดที่ผิดทาง และถึงขั้นส่งผลให้ลาออก และเปลี่ยนงานบ่อย รวมไปถึงกล้าเสี่ยงในเรื่องที่ไม่ควรจะเสี่ยง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอันตรายต่อทั้งตัวทีมงานและองค์กร

แต่นั่นก็เป็นเพียงบางส่วนของงานวิจัย เพราะจริงๆ แล้วภาพรวมของการมีความช่างสงสัยนั้นมีข้อดีมากกว่า เพราะการเป็นคนช่างสงสัยอาจทำให้เราทำงานได้ดีกว่าคนทั่วไป ฉลาดและมีบุคลิกที่ดีกว่า รวมถึงมี Lifelong Learning หรือความอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา และที่สำคัญผู้นำที่มีความช่างสงสัยก็มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ตามมากกว่า จากการคอยถามความคิดเห็นและความรู้สึกของทีมงานอยู่เสมอ


ดังนั้นการส่งเสริมนิสัย “ช่างสงสัย” ให้ทีมงาน องค์กรอาจต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างขององค์กรดังนี้ 


1. ให้โอกาสทีมงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่

ในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ เช่น จัด Book Club หรือ Movie Club เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในบทสนทนา คอยดึงเรื่องสนุกๆ มาให้พนักงานได้ต่อยอด

2. สร้าง mindset ที่ทำให้เกิดความช่างสงสัย

ในรูปแบบของผลลัพธ์ปลายทาง ไม่ใช่กระบวนการ ซึ่งนักวิจัยแบ่งความช่างสงสัยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ความช่างสงสัยที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างผลลัพธ์อะไรบางอย่าง เช่น ถ้าเราต้องสร้าง Smartphone ที่ล้ำกว่าที่มีในตลาดปัจจุบันเราจะสร้างสรรค์อะไรออกมา ส่วนกลุ่มที่สอง คือ ความช่างสงสัยที่เกิดจากการเรียนรู้แล้วอยากต่อยอดไอเดียออกไป ความช่างสงสัยประเภทนี้จะเป็นการจุดประกายความช่างสงสัยในตัวทีมงาน ให้อินกับความช่างสงสัย ซึ่งผลลัพธ์อาจจะยังไม่เห็นในทันที แต่จะปรากฏขึ้นในภายหลัง

3. ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน

เช่น เปลี่ยนรูปแบบการวางโต๊ะประชุม หรือจัดโต๊ะทำงานใหม่ ตกแต่งหรือดีไซน์ออฟฟิศใหม่

4. ส่งเสริมให้เกิดคำถามโง่ๆ ภายในทีม

ให้ทุกคนกล้าที่จะพูด กล้าที่จะคิด และกล้าที่จะทำ สร้างพื้นที่ปลอดภัย (Psychological Safety) เพื่อให้ทุกคนได้โยนไอเดียกัน เพราะบางครั้งคำถามที่ดูโง่ๆ อาจก่อให้เกิดงานที่ตอบโจทย์อะไรบางอย่างได้ดีโดยไม่เคยคาดคิด

5. ความช่างสงสัยต้องเริ่มจากผู้นำ

ตัวอย่างเช่น องค์กรอาจเพิ่มเวลาจากการประชุมปกติ ให้คนในทีมได้แสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการส่งเสริมความช่างสงสัยในการทำงานของคนในทีม เพราะหลายๆ ครั้งแม้คนในทีมจะมีความช่างสงสัย แต่หัวหน้าไม่ได้ทำตัวส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เหล่า ก็อาจจะทำให้ทีมงานรู้สึกท้อใจและไม่กล้าแสดงความเห็นต่อได้


การสร้างวัฒนธรรมที่ช่วยจุดประกายความช่างสงสัยในตัวทีมงานถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในหลายองค์กร ซึ่งหากองค์กรลองปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างเพียงเล็กน้อย หรือทีละเล็กทีละน้อย ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน รวมถึงอาจจะเพิ่มความไว้วางใจในองค์กรได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็คือการมีส่วนร่วมในองค์กรของทีมงานที่เพิ่มมากขึ้นตามมา


เนื้อหาบางส่วนจากรายการพอดแคสต์ Rise & Shine 105 Curiosity At Work จุดประกายความช่างสงสัยในการทำงาน โดย อาจารย์ภูมิ ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร


เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์

trending trending sports recipe

Share on

Tags