เมื่อภาวะหมดไฟไม่ได้เลือกตำแหน่ง และความเบื่อไม่ได้เลือกวัย

Last updated on มี.ค. 2, 2023

Posted on มี.ค. 23, 2020

Burnout หรือที่ก่อนหน้านี้เราเรียกกันว่า ภาวะ “หมดไฟ” การทำงาน ยังคงเป็นที่พูดถึงในหลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของการหมดไฟ หรือจะทำอย่างไรให้ไฟของความสนุกสนานในการทำงานถูกจุดติดอีกครั้ง

หลายครั้งเรามองว่า ภาวะหมดไฟนี้มักเกิดกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มักจะถูกมองว่าเป็นวัยที่เบื่อง่าย แสวงหาอิสระ และอาจถูกกดดันด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่มากพอ แต่ถ้าเราลองมองไปรอบๆ ออฟฟิศ คุณอาจพบว่าคนที่นั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดไม่ได้มีแต่พนักงานประสบการณ์น้อยเท่านั้น จริงๆ แล้วเหล่า Senior, Manager ไปจนถึงผู้บริหารระดับ MD หรือ CEO เอง ต่างก็มีความเครียดกันได้ ความเบื่อไม่ได้เลือกวัย ภาวะหมดไฟไม่ได้เกิดแค่กับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น

Burnout Sydrome

ในวัย 2x ปี, 3x ปี, 4x ปี, 5x ปี นอกจากจะมี “ต้นทุนประสบการณ์” ผ่านร้อนผ่านหนาวแตกต่างกันแล้ว อีกสิ่งที่แตกต่างคือ “ภาระความรับผิดชอบ” ในแต่ละวัยที่แตกต่างกัน หากเราทำความเข้าใจธรรมชาติของแต่ละวัยก็จะทำให้เราเข้าถึงขุมพลังที่จะมาจุดไฟได้ และรู้ได้เช่นกันว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ไฟมอดอ่อนแรงลงไปด้วย

Practice > Fail > Experience > Repeat it นี่คือวัยของการฝึกฝน 

สิ่งที่วัยยี่สิบตอนต้นหรือนักศึกษาจบใหม่มีข้อได้เปรียบคือ ทฤษฎีความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการในช่วงเวลานั้น แต่สิ่งที่ยังขาดคือ การลงมือทำจริง วัยเหล่านี้ยังไม่เคยลงสนามว่าสิ่งที่อ่านและผ่านการสอบจากชีวิตมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อได้เจอการทำงานหรือลูกค้าจริงๆ จะเป็นอย่างไร ดังนั้นการได้ฝึกฝน ลงมือทำผ่านชิ้นงานให้มาก จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งแห่งการค้นหาตัวเองให้เจอว่าสิ่งไหนคือเรื่องที่ตัวเองถนัดและรักที่จะมุ่งไป

ความเหนื่อยล้าของวัยนี้มักจะเกิดจากการทำงานซ้ำ ๆ เดิม ๆ ปริมาณมาก ๆ เมื่อประสบการณ์ยังไม่มากก็มักเกิดข้อผิดพลาดในเรื่องเดิมหลายครั้ง จนเหนื่อยกับการรับมือกับความผิดพลาดและคำตำหนิที่คุณเดาไม่ได้ว่างานวันนี้จะถูกต้องหรือถูกใจคนร่วมงานหรือไม่ ไปจนถึงความเหนื่อยที่ต้องค้นหาตัวตน ค้นหาความถนัดของตัวเอง เพราะปัจจุบันมายาคติหนึ่งของสังคมที่สื่อสารไปยังรุ่น Millennaials มักเป็นเรื่องของการค้นหาตัวเอง ยิ่งใครหาตัวเองเจอเท่าไหร่ยิ่งดี ทั้งๆ ที่ความจริงคุณอาจจะค้นพบความชอบ สิ่งที่ถนัดของตัวเองในวัย 40 ก็เป็นได้ 

Burnout Sydrome


หากเราลองพักการแสวงหาประสบการณ์ทำงาน แล้วออกเที่ยวในที่แปลกใหม่ ด้วยงบที่ไม่ได้สูงมาก เอาสมองเดียวกันกับที่ใช้คิดแก้ปัญหางาน มาสร้างสรรค์วิธีออกไปเผชิญโลกกว้าง เที่ยวในที่แตกต่างจากคนอื่น และแม้ว่าทริปจะผิดพลาดหรือมีอุปสรรค คุณก็ยังสนุกได้กับทุกวีรกรรม เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นจากความคิดของคุณเอง

Superman of Expectations คนของความคาดหวัง

ในขณะที่วัยเลขสาม เมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว จะเริ่มสะสม “Know-How” ความชำนาญ มีกลวิธีของตัวเองในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งและเคล็ดลับเฉพาะตัวที่อยากถ่ายทอดให้น้องในทีมได้ลองทำ คนวัยนี้ต้องการเป็นที่จดจำว่าเก่งในเรื่องไหน ดังนั้นการได้ทดลองเป็นเจ้าของชิ้นงาน เป็นผู้นำในบางโปรเจกต์จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายของวัยนี้

Burnout Sydrome

ความเหนื่อยล้าของคุณอาจเกิดจากความคาดหวัง ทั้งจากหัวหน้างานของคุณที่หวังให้คุณสร้างคนจัดการคนได้ และความคาดหวังจากน้องในทีมที่คุณดูแลและเห็นคุณเป็นแบบอย่าง ที่สำคัญช่วงนี้คุณต้องเริ่มมีความรับผิดชอบแทนผู้ใหญ่ในบ้านในบางเรื่อง การที่คุณต้องคอยรักษาระดับความคาดหวังของคนภายนอกอาจทำให้คุณละเลยที่จะฟังเสียงภายในที่บอกความต้องการของตัวเอง

วางเคล็ดลับมัดใจลูกค้า วางเคล็ดลับการประสบความสำเร็จในสายงานที่คุณสะสมมากมาย แล้วหันมาถ่ายทอดเคล็ดลับมุมอื่น ๆ ในชีวิตของคุณบ้าง เช่น เคล็ดลับการจัดบ้าน เคล็ดลับการทำอาหารที่คุณไม่เคยบอกใคร

ร้านกาแฟลับ ๆ ที่คุณพบหลังจากออกไปประชุมกับลูกค้ามานับครั้งไม่ถ้วน ฯลฯ อาจจะลองเริ่มต้นจากการถ่ายทอดกับน้อง ๆ ในที่ทำงานเป็นการซ้อมมือ ถ้าลองแล้วติดใจอาจจะจัดเป็นคลาส หรืออาจจะลองเป็น Youtuber ดูบ้างก็น่าสนใจ

เมื่อรู้มากก็อยากจะรู้เรื่องเล็ก ๆ

เมื่อผ่านมาถึงอายุงานที่มากพอ ส่วนใหญ่จะเป็นวัยสามสิบปลาย-ต้นสี่สิบ Know-How ที่สะสมมา นำไปสู่การประกอบกันเกิดเป็นทฤษฎีบางอย่าง คุณสามารถคิดแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยการเอาประสบการณ์ของคุณผนวกเข้ากับทฤษฎี จนหาคำตอบได้อย่างลงตัว ความท้าทายที่มองหา กลับเป็นการได้นำทฤษฎีที่ตัวเองตกตะกอนได้แล้ว ไปสร้างสิ่งที่ขยายผล
ออกไปมากกว่าแค่ตัวเอง ต้องการสร้าง Impact ให้กับคนในวงกว้าง

Burnout Sydrome

แต่วัยเดียวกันนี้เองคุณกลับมีความสุขกับคนใกล้ตัว มีพื้นที่เล็ก ๆ เป็นของตัวเอง หันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่ยังไม่เคยทำมาก่อน เพราะในเวลาปกติคุณใช้แต่เลนส์กว้างมองไปที่ผลลัพธ์ภาพใหญ่ ทำให้คุณพลาดบางมุมที่เหมือนเป็นจุดอับสายตาไป 

อย่างการได้สอนลูกหลานตัวเล็ก ๆ สอนคุณแม่ให้ทำเรื่องใหม่ ๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยได้ลองทำด้วยกันมาก่อน บางทีพวกเขาอาจจะสอนคุณกลับด้วยการเป็นผู้ฟังที่เปิดใจเรียนไปกับคุณอย่างไม่เคยสงสัยความเก่งใดๆ ในตัวคุณเลย

Burnout Sydrome

แล้วอย่าลืมสะสมเรื่องเล็ก ๆ ที่ทำให้คุณยิ้มได้ในแต่ละวัน จดบันทึกสั้น ๆ ถ่ายรูปความทรงจำที่ดีเก็บไว้ เสมือนว่าเป็นการสะสมไฟเล็ก ๆ ไว้อย่างสม่ำเสมอ

วันหมดไฟของคุณอาจจะมาถึงช้าหรือเป็นแค่วันไฟแผ่วไปบ้างในบางวัน

เรื่อง : ฉวีวรรณ คงโชคสมัย
ภาพ : Unsplash

รู้สึกหมดไฟ ทำไงดี…. บทความเหล่านี้อาจช่วยเติมไฟให้คุณได้

trending trending sports recipe

Share on

Tags