3 หลักการตั้ง Vision องค์กรตามความต้องการของลูกค้า

Last updated on มี.ค. 24, 2021

Posted on มี.ค. 24, 2021

JUST DO IT. – Nike

THINK DIFFERENT. – Apple

BELONG ANYWHERE. – Airbnb

Designed for Driving Pleasure.–BMW

AP THINK THINGS เอพี ‘คิด’ ให้คุณ ‘อยู่’ – AP THAILAND

หากถอดอัตลักษณ์แบรนด์ดังจาก Slogans หรือ Taglines ติดหูข้างต้นนี้ จะเห็นว่าความหมายที่แต่ละแบรนด์สื่อสารออกมานั้น ทั้งหมดสะท้อนถึงความต้องการในส่วนลึกของลูกค้า ซึ่งถ้าเราสามารถเชื่อมโยงสิ่งนี้เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรได้ด้วย จะทำให้กระบวนการคิดผลิตภัณฑ์ และบริการถูกจริตกับกลุ่มเป้าหมาย และสามารถสร้างตัวตนที่แข็งแรงให้แก่แบรนด์ได้อย่างแท้จริง

CREATIVE TALK ถอดแนวคิดจาก คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน CEO of AP THAILAND บอกกับเราว่าอันที่จริงแล้ววิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กรควรตั้งต้นจากความต้องการของลูกค้าซะมากกว่าตัว CEO ซึ่งหลักๆ แล้ว ทาง AP THAILAND เชื่อว่าองค์กรยุคใหม่ควรยึดถือ 3 เรื่องสำคัญต่อไปนี้

1. ต้องให้พนักงานมีอำนาจตัดสินใจ (Decentralize Decision Making)

เพราะคนที่รู้ Insight อยู่ใกล้ชิดลูกค้ามากที่สุดก็คือพนักงาน ถ้าหากคุณมั่นใจว่าคัดสรรคุณสมบัติของพวกเขามาแล้วเป็นอย่างดี ก็ควรจะเชื่อใจในคนเก่งเหล่านั้น  

กล้าที่จะมอบอำนาจการตัดสินใจในเนื้องานของพวกเขา เพื่อเค้นศักยภาพและการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาได้เอง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดขององค์กรเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องแน่ใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า หัวหน้า ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงาน ทุกๆ ฝ่ายจะต้องเห็นชอบต่อการตัดสินใจนั้นๆ

2. เอื้อต่อการสร้างสิ่งใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า (Innovation Culture) 

เมื่อพูดถึงนวัตกรรม เรามักจะใช้ Design Thinking เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์จากความต้องการของลูกค้า ทว่านวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ใช้เทคโนโลยีล้ำๆ เสมอไป บางครั้งอาจเรียบง่ายกว่าที่คุณคิด เช่น เพียงแค่ลองเปลี่ยนมุมมองของคนแต่ละช่วงวัยก็อาจตีโจทย์ใหม่ๆ ออกมาได้ เช่น รายการ Small Talk โดยทีมงานรุ่นใหม่ของ CREATIVE TALK ที่มีทุกวันอังคาร เวลา 22.00 น. บน Clubhouse อาจส่งมอบคุณค่าที่แตกต่างออกไปจากมุมมองของ CEO อย่างในรายการ Morning Call หรือ FounderCast 

รวมถึงบรรยากาศที่ทำให้คนในองค์กรกล้าล้ม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ผู้บริหารต้องอย่าลืมว่าในกระบวนการสร้างสิ่งใหม่นั้นมีความเสี่ยงจะล้มเหลวได้ หากลูกน้อง WIN ต้อง CELEBRATE ชื่นชมความสำเร็จจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในทีม แต่เมื่อ FAIL ต้อง SUNSHINE ส่งพลังใจให้ทีมสู้ต่อ ฟีดแบ็กจากความปรารถนาดี ติเพื่อก่อแล้วให้โอกาสลองดูใหม่ ไม่รีบตัดกำลังใจ หรือริบคืนความเชื่อใจเร็วจนเกินไป

3. จัดการงานด้วยเครื่องมือยุคดิจิทัล (Digital Business Management)

เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานของตนเอง และติดตามความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ เพื่อที่ทีมจะช่วยกันดูงานไม่ให้ตกหล่น ช่วยกันเติมส่วนที่ขาด คิดเผื่อคนอื่นในทีม ออกแบบการทำงานที่ว่องไวและเวิร์ก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแต่ละโปรเจ็กต์ให้แล้วเสร็จอย่างราบรื่น

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่ ที่ผู้บริหารอย่างคุณมีหน้าที่ค้นหาวัฒนธรรมที่ใช่มาสร้างคุณค่าให้องค์กรของคุณ อาจไม่ต้องสวยหรูหรือเหมือนใคร เพราะไม่มีแนวทางไหนที่ใช่และใช้แล้วเวิร์กสำหรับทุกคน ลองเติมส่วนที่ขาดตอนนี้ก็ยังไม่สาย ยังปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับธุรกิจของคุณ ได้เสมอเพื่อพาองค์กรก้าวต่อไปสู่อนาคต

ติดตามฟังย้อนหลังได้ทาง

🎧 SoundCloud: http://bit.ly/318HCLh
🎧 Spotify: http://spoti.fi/3vUJmWW
🎧 PodBean: http://bit.ly/2OXXopX
🎧 Apple Podcast: http://apple.co/3tR4vPV

trending trending sports recipe

Share on

Tags