7 บทเรียนนอกตำราที่ผู้บริหารระดับโลกอยากบอกคุณ

Last updated on ก.พ. 24, 2023

Posted on เม.ย. 20, 2021

ตลอดชีวิตการสอนบริหารธุรกิจของศาสตราจารย์ ‘Clayton M. Christensen’ อาจารย์ประจำ ‘Harvard Business School’ ผู้เขียนหนังสือ ‘The Innovator’s Dilemma’ และ ‘How Will You Measure Your Life?’ ได้ตกผลึกออกมาเป็นแนวทางการบริหารชีวิตของผู้ประกอบการ ที่นอกจากจะต้องตั้งคำถามยากๆ กับตัวเอง เพื่อค้นหาคำตอบและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดีกว่าเดิมแล้ว ยังต้องหมั่นค้นหาความหมายของชีวิตควบคู่กันไปด้วย

CREATIVE TALK รวบรวม 7 บทเรียนนอกตำราที่ผู้บริหารระดับโลกอยากบอกคุณ ให้คุณเก็บไปคิดตาม มีดังต่อไปนี้ 

1. อย่าทำงานจนละเลยชีวิตและความสัมพันธ์ – ‘Satya Nadella’

สัตยา นาเดลลา

เมื่อคุณกลายเป็นผู้ประกอบการ ภาระงานมักแยกไม่ขาดออกจากชีวิตคุณ ผู้นำยุคใหม่จึงเลือกวิธี Work-Life Effectiveness เลือกใช้พลังงานที่เข้มข้นให้เหมาะสมกับจังหวะสำคัญๆใน แต่ละช่วงชีวิต เพื่อจะมีกำลังใจไปทำงานที่คุณรักต่ออย่างมีความสุข

Satya Nadella (สัตยา นาเดลลา) ซีอีโอบริษัท ‘Microsoft’ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ‘Vanity Fair’ ไว้ว่า เวลาอยู่กับครอบครัว เขาจะอยู่ ณ ขณะปัจจุบัน โดยใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและมีคุณภาพที่สุด ไม่วอกแวกให้กับเรื่องนอกบ้าน นั่นคือคำตอบของสมการชีวิตที่ลงตัวสำหรับเขา


2. ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้า – ‘Tim Cook’

ทิม คุก

ถึงจะผิดแผนหรือผิดพลาดก็ไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวเสมอไป คุณจะได้เรียนรู้ว่าอะไรที่มันไม่เวิร์ก แล้วลองหาทางดูใหม่ เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จ ถ้าปราศจากความท้าทายเหล่านั้น เราก็จะไม่มีทางก้าวหน้าไปไหนไกลได้เลย

Tim Cook (ทิม คุก) ซีอีโอบริษัท Apple คนล่าสุด เคยกล่าวปัจฉิมนิเทศให้แก่บัณฑิตจาก Auburn University เมื่อปี 2010 ว่า

“เมื่อพูดถึงความสำเร็จ เราคงจะละเลยความล้มเหลวไปไม่ได้ ผมแน่ใจว่าไม่มีใครทำสำเร็จได้หากไม่ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความท้อแท้ และความผิดหวัง… หลังจากออกเดินบนเส้นทางสายนี้ ผมจดจำทุกช่วงเวลาในชีวิตที่แสนสาหัส ซึ่งทำให้เราแข็งแกร่งและเฉียบคมขึ้น อย่างที่สำนวนผู้เฒ่ากล่าวว่า ผ่านเป็นเพชร นั่นจริงทีเดียวสำหรับผม และผมเองก็แน่ใจว่าใครก็ตามที่ถือคตินั้นอยู่จะทำได้จริงเช่นเดียวกัน”


3. ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด – ‘Sundar Pichai’

ซันดาร์ พิชัย

“ทิศทางที่ดีที่สุด คือ พยายามเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้มากที่สุด” Sundar Pichai (ซันดาร์ พิชัย) ซีอีโอ ‘Alphabet’ ยังกล่าวอีกว่า “ที่ Google เรามีจุดมุ่งหมายจะทำทุกวิถีทางให้งานเข้าใกล้ความสำเร็จแบบที่เรียกว่าติดจรวด (Moonshot)” 

ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีหลายคนมีพื้นฐานจบทางวิศวกรรมด้วย พวกเขาจึงมักนำหลัก Agile และ Design Thinking มาใช้เป็นแนวคิดสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมักจะสนับสนุนให้เร่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากไอเดียให้เร็วที่สุด แล้วปรับปรุงแก้ไขตามผลสำรวจจากผู้ทดลองใช้จริง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงต้องมีความพร้อมจะปรับเปลี่ยนกระบวนท่าอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลยุทธ์ธุรกิจและแผนการตลาด เพราะไม่มีคำตอบสุดท้ายหรือแนวทางสำเร็จรูปในการทำธุรกิจที่ใช้ได้ผลเสมอไป


4. ยึดหลักเกณฑ์พื้นฐานไว้เสมอ – ‘Howard Schultz’

ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ

ไม่ว่าคุณจะเกิดไอเดียแหวกแนว อยากลองลุยทำโปรเจกต์ในฝันนั้นดูสักตั้ง ก็ควรผ่านหลักเกณฑ์พิจารณาเบื้องต้นก่อนว่ามันคุ้มเสี่ยงหรือไม่ มีทางเลือกอื่นที่ได้ผลเหมือนกันแต่เสี่ยงน้อยกว่ารึเปล่า เพื่อให้แน่ใจว่าทุกการตัดสินใจของคุณจะไม่ผิดพลาดโดยประมาท

Howard Schultz (ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอร้านกาแฟแฟรนไชส์ระดับโลกอย่าง Starbucks กล่าวว่า สิ่งที่ทรงพลังที่สุดคือหัวใจดั้งเดิมของแบรนด์ เขากล่าวไว้ในหนังสือ ‘Pour Your Heart Into It: How Starbucks Built a Company One Cup at a Time’ ของเขาเอง


5. แข่งด้วยจุดแข็งของคุณ – ‘Ginni Rometty’

จินนี โรเม็ตตี

อย่าคิดแต่จะห้ำหั่นแแข่งขันกับคู่แข่งโดยลืมคำนึงถึงความถนัดของเรา เพราะนั่นอาจทำให้คุณตกหลุมพลางความคิดของตัวเองก็เป็นได้ และมีแนวโน้มว่าจะเสี่ยงขาดทุนได้มากกว่า

Ginni Rometty (จินนี โรเม็ตตี) ซีอีโอบริษัท IBM กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำคือ ไม่ให้ใครมาบอกว่าคุณคือใคร แต่สร้างจำกัดความขึ้นมาด้วยตัวเอง เหมือนที่ฉันไม่คิดว่าตัวเองเป็นซีอีโอหญิงของบริษัทแห่งนี้ แต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนในองค์กรยักษ์ใหญ่”


6. ผู้นำไม่คอยบงการ – ‘Mary T. Barra’

แมรี่ บาร์ร่า

การแสดงวิสัยทัศน์ให้เห็นภาพเป้าหมายร่วมกันขององค์กรอย่างชัดเจน และบริหารจัดการคนที่หลากหลายด้วยความเข้าอกเข้าใจ เป็นศิลปะของผู้นำที่ดี

วิถีของซีอีโอต้องไม่ใช่ผู้ชี้นิ้วคอยควบคุมวิธีการทำงานของคนในองค์กรทุกขั้นตอน แต่ต้องเป็นผู้คอยมองภาพรวม สร้างพลังขับเคลื่อน และอำนวยความสะดวกให้ทุกคนในองค์กรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจตามเป้าหมายขององค์กร

Mary T. Barra (แมรี่ บาร์ร่า) ซีอีโอหญิงแห่งบริษัทรถยนต์สัญชาติอเมริกัน ‘General Motors’ กล่าวว่าเธอสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นเจ้าของผลงานร่วมกัน ไม่ว่าใครอยากได้ความช่วยเหลือตรงไหน ทีมก็ต้องพร้อมกระโจนลงไปช่วยระดมสมองและร่วมแรงกันช่วยเหลือให้งานนั้นสำเร็จลงได้


7. ตั้งมั่นในอุดมการณ์ – ‘Sheryl Sandberg’

เชอริล แซนเบิร์ก

ผู้นำที่รู้ซึ้งถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตนั้นมักปรารถนาจะสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น  อย่างเช่น Sheryl Sandberg (เชอริล แซนเบิร์ก) เธอดำรงตำแหน่งเป็น COO ของ Facebook สาเหตุที่เธอเลือกเรียนบริหารธุรกิจก็เพราะเมื่อตอนเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ World Bank เธอได้เข้าร่วมโครงการรณรงค์เรื่องสาธารณสุขที่ประเทศอินเดีย

ซึ่งเป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืม เมื่อได้สัมผัสกับสุขภาวะของชาวบ้านที่ต่ำกว่ามาตรฐานเสียจนทำให้เธอตั้งปณิธานว่าจะต้องเข้าทำงานที่องค์กรระดับโลก เพื่อจะมีพลังมาขับเคลื่อนสังคม สามารถระดมทุนมาช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง

เรื่องโดย : พิมพ์สุดา วรพงศ์พิเชษฐ
ภาพโดย : พิมพ์สุดา วรพงศ์พิเชษฐ

ข้อมูลอ้างอิง

trending trending sports recipe

Share on

Tags