พรีเซนต์ให้ดี สื่อสารให้โดน ด้วยเทคนิค 5 ข้อ

Last updated on ก.ย. 11, 2020

Posted on ก.ย. 11, 2020

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า? ทำไมบางครั้งที่เราได้ฟังการพรีเซนต์งานที่ดี เราถึงได้เข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสาร หรือรู้สึกว่าผู้พูดคนนั้นสามารถสร้างความประทับใจได้ดีเหลือเกิน อะไรที่ทำให้การพรีเซนต์นั้นมีความน่าสนใจ และอะไรที่เป็นตัวช่วยในการสร้างการนำเสนองานที่ดีได้

ครั้งหนึ่ง คุณ Carmine Gallo นักเขียน คอลัมนิสต์ และนักกล่าวสุนทรพจน์ชาวอเมริกัน ได้มีโอกาสไปพบกับ CEO ท่านหนึ่งใน Silicon Valley เพื่อพูดคุยและให้คำแนะนำในเรื่องการสื่อสารและการทำพรีเซนเทชั่น เพราะ CEO ท่านนั้นเชื่อว่าทุกครั้งที่สกิลการสื่อสารของเขาพัฒนาขึ้นไป จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากมาย

เขาจึงได้สรุปเทคนิค 5 ข้อ ที่จะช่วยในการพัฒนาการนำเสนองานเอาไว้ในบทความของ Harvard Business Review เรื่อง “What It Takes to Give a Great Presentation” หรือ “อยากพรีเซนต์ดี ต้องมีอะไรบ้าง” ไว้ดังนี้

1. ทำสไลด์ให้น้อยลง พร้อมกับใช้ตัวอักษรให้น้อยลงด้วย

คนที่นำเสนอได้ดี มักจะมีการใช้สไลด์และการใช้คำที่น้อย เพราะการลดจำนวนสไลด์ลง จะช่วยให้คนฟัง จดจำเนื้อหาได้มากขึ้น และคนพรีเซนต์เองก็ได้เล่าเรื่องมากขึ้นด้วย โดยที่ไม่ต้องเสียเวลามากังวลเรื่องการเปลี่ยนสไลด์ไปมา ทำให้เราสามารถโฟกัสไปที่การเล่าเรื่องได้มากกว่าเดิม

2. ไม่ใช้ Bullet Points แต่นำ Bullet Points มาเป็นอีกหนึ่งสไลด์

ในข้อนี้ เขายกตัวอย่างเทพแห่งการทำพรีเซนเทชั่นอย่างคุณสตีฟ จ็อบส์ ว่า จ็อบส์จะไม่ชอบใช้ bullet points แต่จะเอาหนึ่งประโยคใน bullet points นั้นๆ มาเป็นอีกหนึ่งสไลด์ แล้วใช้รูปภาพ แทนความหมายของสไลด์นั้นๆ 

เหตุผลก็คือ โดยปกติมนุษย์เราจะสามารถจดจำรูปภาพได้ดีกว่าตัวอักษรนั่นเอง เพราะมีงานวิจัยที่บอกว่า มนุษย์นั้นสามารถจำรูปภาพได้ดีกว่าตัวอักษรถึง 65% เลยครับ 

3. การใช้ลูกเล่นในน้ำเสียง เพื่อบอกคนฟังว่าจุดไหนที่เน้น จุดไหนที่สำคัญ

หากลองสังเกตุคนที่พรีเซนต์ได้ดี จะมีการใช้เสียงสูง เสียงต่ำ ไปจนถึงเสียงที่ดัง และเสียงที่เบา ให้เข้ากับการนำเสนอ ถูกต้องตามจังหวะต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มเสียงที่หนักแน่นใน keyword ที่ต้องการเน้นความหมาย และหยุดพูดชั่วขณะหลังจากนั้น เพื่อเป็นการบอกคนฟังว่า ตรงนี้ที่เรากำลังนำเสนอ มีความสำคัญนะ

4. สร้างภาพจำด้วยความ “ว้าว”

คนที่นำเสนองานทได้ดี จะสามารถสร้างช่วงเวลาที่น่าประทับใจ หรือ “wow” moment ให้คนฟังได้ เพราะว่าการสร้าง “wow” moment จะทำให้คนฟัง จดจำเนื้อหานั้นได้อย่างแม่นยำ แม้จะจำเนื้อหาได้ไม่ครบก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น การพูดของบิล เกตส์ ในงาน TED Talks ซึ่งในครั้งนั้น เขากำลังบรรยายเกี่ยวกับเรื่องโรคมาลาเรียที่กำลังระบาดหนักในแอฟริกา แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนฟังในสหรัฐอย่างมาก 

บิล เกตส์ อยากให้คนฟังสนใจ และรับรู้ได้ถึงสถานการณ์ เขาจึงสร้าง “wow” moment ด้วยการบอกว่าเขาได้นำยุงที่มีเชื้อมาลาเรีย มาให้คนฟังได้เห็นกันแบบตัวเป็นๆ อยู่ในขวดโหล หลังจากนั้น ก็ปล่อยให้ยุงออกมาบินว่อนในห้องบรรยาย เล่นเอาคนฟังตะลึงไปตามๆ กัน แต่หลังจากนั้น “wow” moment นี้ ก็ทำให้คนฟังจดจำสิ่งที่บิล เกตส์ต้องการจะบอกได้เป็นอย่างดี

5 ฝึกซ้อม และก็ซ้อม 

กฏที่บอกว่า “ถ้าคุณอยากเก่งแบบไหน ก็ให้ซ้อมแบบนั้น” ยังคงใช้ได้สำหรับเรื่องนี้ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนที่นำเสนองานได้ดี พวกเขามีชั่วโมงการซ้อมที่เยอะมาก และยิ่งซ้อมมากเท่าไร เรายิ่งมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นเท่านั้น 

หวังว่า 5 เทคนิค ที่คุณ Carmine Gallo ได้สรุปมาให้ในบทความนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารของการนำเสนองานในครั้งหน้าให้ดียิ่งขึ้นได้นะครับ

ถอดความจาก Morning Call Podcast
เรียบเรียงโดย สนธยา สุตภักดิ์

trending trending sports recipe

Share on

Tags