เรามีปัญหาที่ต้องแก้มากเกินไปหรือเปล่า? 3 วิธีลดปัญหาเพื่อโฟกัสการแก้ไขปัญหา

Last updated on มี.ค. 1, 2023

Posted on ส.ค. 23, 2019

“ปัญหา” สิ่งที่เราต้องเจอกันทุกวัน บางคนชอบแก้ปัญหา บางคนชอบดอง บางครั้งคนอื่นนำปัญหามาปรึกษาหรือให้เราช่วยแก้ ในทางกลับกันเมื่อเรามองคนอื่น อาจมองว่าคนอื่นมีปัญหาที่เยอะกว่าเรามากและสามารถแก้ไขได้ ส่วนตัวเรามีไม่กี่อย่างและเริ่มคิดว่าควรแก้ปัญหาให้ได้มากกว่านี้หรือเปล่า

สำหรับคนที่มีปัญหาเยอะ มีเรื่องให้ต้องแก้ไขมาก ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องความรัก อาจต้องลองสำรวจตัวเองว่าปัญหาที่เรามีทำให้เราเครียดมาจนเกินไปไหม และปัญหาเหล่านั้นมีมากเกินไปหรือเปล่า มาดู 3 Checklist ที่ช่วยคัดกรองให้เหลือแค่ปัญหาที่เราต้องแก้จริง ๆ กัน

1. ปัญหานี้ใช่ปัญหาของเราหรือไม่

เราต้องแยกปัญหาออกเป็น 2 ประเภท คือ “ปัญหาที่เราต้องแก้” เช่น เรื่องงาน เรื่องส่วนตัว หรือเป็นปัญหาที่เราต้องแก้จริง ๆ กับ “ปัญหาที่คนอื่นอยากให้เราแก้” เช่น คนมาขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษาเรื่องงาน ความรัก จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นสิ่งที่คนอื่นอยากให้เราช่วยแก้

เมื่อมีปัญหารุมเร้ามาก ๆ สิ่งแรกที่เราควรทำคือ แยกให้ออกว่าปัญหานี้คือแบบไหน ถ้าช่วงไหนมีปัญหาเยอะแล้ว เลือกแค่สิ่งที่เราต้องแก้ก็พอ ยกเว้นว่าสำหรับเรา การช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ไม่เครียด ถ้าเป็นแบบนั้นก็ควรทำ แต่ถ้าคนที่เราช่วย ชอบมาพร้อมปัญหาให้เราแก้บ่อย ๆ มันก็จะเริ่มไม่ใช่เรื่องสนุกแล้ว

บางปัญหาต้องคิดดูดี ๆ ว่าสิ่งที่เราแนะนำไปจะเป็นผลดีหรือไม่ บางเรื่องเราแนะนำแล้วถ้าเขาได้ดีก็กลายเป็นเสมอตัว แต่ถ้าได้ร้ายกลับมาคนจะย้อนกลับมาถามหาความรับผิดชอบกับเรา เพราะเราเป็นคนแนะนำให้เขาทำสิ่งนั้น ๆ

2. ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้หรือไม่

หลายครั้งเราคิดว่าทุกปัญหา ทุกเรื่องสามารถแก้ไขได้ แต่บางเรื่องแก้ไขไม่ได้จริง ๆ เช่น นิสัยของคน หรือสิ่งที่ทำต่อกันมาเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขได้ในเวลาอันสั้น บางเรื่องเราคิดแล้วคิดอีกก็ยังแก้ไม่ได้ เรื่องเหล่านั้นถ้ายังแก้ไม่ได้ก็ยังไม่ต้องแก้ กลับมาโฟกัสกับสิ่งที่เราสามารถแก้ไขได้จริง ๆ เช่น เรื่องงานที่เรามีอำนาจและสามารถควบคุมได้

3. ปัญหานี้คนอื่นสามารถช่วยได้หรือไม่

ลองดูว่ามีใครช่วยเราแก้ปัญหาได้บ้าง บางสิ่งอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ขอความช่วยเหลือได้ หรือบางปัญหาใช้เวลานานต้องการคนช่วยคิด ลองให้เพื่อนหรือทีมงานช่วยกันคิดหลาย ๆ คน อาจสามารถแก้ได้เร็วกว่าคิดคนเดียว

เทคนิคเพิ่มเติม คือ การมองปัญหาออกเป็น 2 แกน คือ ความสำคัญของปัญหาและความยากในการแก้ปัญหา ต้องสำรวจว่าปัญหาที่เราเจออยู่สำคัญมากหรือน้อย สามารถแก้ได้ง่ายหรือยาก ต้องจัดปัญหาที่สำคัญมากและแก้ได้ง่ายมาเป็นอันดับหนึ่ง และปัญหาที่สำคัญน้อยและแก้ได้ยากไว้ทีหลัง

ระวังอย่าสับสนกับสิ่งที่ควรทำ ที่จะแบ่งออกเป็นความสำคัญและความเร่งด่วน คนส่วนมากมักทำคือ สิ่งสำคัญที่เร่งด่วนก่อน เช่น เรื่องงาน เป็นต้น แต่คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ทำสิ่งสำคัญแต่ไม่เร่งด่วนก่อน เช่น เรื่องสุขภาพ คนที่ประสบความสำเร็จมองว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ถึงไม่เร่งด่วนเขาก็จะหาเวลาไปดูแลสุขภาพ ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะมองว่าเราสุขภาพเป็นเรื่องที่รอได้ จนวันหนึ่งมันเริ่มเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น เส้นเริ่มยึด ปวดหลัง ป่วยเข้าโรงพยาบาล เป็นต้น และเมื่อถึงตอนนั้นจะแก้ก็สายไปแล้ว

สุดท้ายนี้ อย่ามองว่าปัญหาว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่ควรมองให้มันเป็นความท้าทาย (Challenge) สิ่งหนึ่งที่ Simon Sinek พูดเกี่ยวกับปัญหาไว้ได้น่าสนใจ คือ แค่เราเปลี่ยนจากคำว่าปัญหาเป็นความท้าทาย ภาพทุกอย่างก็จะเปลี่ยน รวมถึงความคิดและทัศนคติของเราด้วย และปัญหาเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหา มันจะนำมาซึ่งทางออกใหม่ ๆ และวิธีแก้ที่ฉลาดอยู่เสมอ นอกจากนี้ปัญหาส่วนมากเกิดจากความไม่รู้ นั้นหมายความว่าทุกครั้งที่เราแก้ปัญหาได้ เราจะเก่งขึ้นและรู้มากขึ้น

ถอดความจาก: Morning Call Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
ฟัง EP. นี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่: SOUNDCLOUD, Spotify, PodBean

ติดตาม Creative Talk ได้อีกหลายช่องทาง

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags